ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ช่วงชีวิตของคนเรานั้นมีจำกัด จงอย่าเสียเวลาให้กับการใช้ชีวิตตามคนอื่น…แต่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เสมือนว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต!! นี่คือสุดยอดปรัชญาการใช้ชีวิต ที่ศาสดาแห่งอารยธรรมโลกยุคใหม่ สตีฟ จ๊อบส์ ซีอีโอใหญ่ผู้ก่อตั้งแอปเปิล ได้ฝากไว้ให้เหล่าสาวกรุ่นหลัง เป็นเข็มทิศนำทางสู่ความสำเร็จตามวิถีของสตีฟ จ๊อบส์ ที่เรียบง่าย ทว่าทรงพลัง

สำหรับสาวกของ “สตีฟ จ๊อบส์” รวมถึงแฟนพันธุ์แท้ของ iPod, iPhone และ iPad คงไม่ต้องบอกว่ารู้สึกช็อกขนาดไหนกับข่าวการจากไปอย่างกะทันหันของผู้ให้ กำเนิดแอปเปิล ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ขณะอายุเพียง 56 ปี เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา (6 ต.ค.) เขาถือเป็นนัก สู้พันธุ์อึดตัวจริง ที่กัดฟันทนต่อสู้กับมะเร็งร้ายมาต่อเนื่องหลายปี ตราบจนถึง วินาทีสุดท้าย โดยไม่เคยแสดงความอ่อนแอให้โลกเห็น
นอกจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำ ยุคล้ำสมัย ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน จนพลิกโลกใบนี้ทั้งใบ และก่อให้เกิดอารยธรรมใหม่ที่เรียกว่า อารยธรรมแอปเปิล ซึ่งมีสาวกทั่วโลกเฝ้าติดตามสิ่งประดิษฐ์ของเขาอย่างใจจดใจจ่อ “สตีฟ จ๊อบส์” ยังได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ยุคใหม่ ที่โลก ทั้งโลกต้องหยุดฟังสิ่งที่เขาพูด เพราะแต่ละประโยคแต่ละถ้อยคำล้วนกลั่นออกจากความคิดที่ตกผลึกแล้ว อย่างคนที่รู้เท่าทันชีวิตจริงๆ

ชีวิตวัยเด็กของ “จ๊อบส์” ค่อนข้างสมบุกสมบันกว่าคนทั่วไป เขาเป็น ลูกที่เกิดจากความไม่ตั้งใจของพ่อแม่วัยเรียน โดยพ่อเป็นชาวซีเรีย ส่วนแม่ เป็นสาวมะกัน ด้วยความไม่พร้อมหลายอย่างทำให้พ่อแม่แท้ๆยกเขาให้เป็น ลูกบุญธรรมของช่างซ่อมเครื่องยนต์ในย่านซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งมีฐานะยากจนและเป็นเพียงชนชั้นแรงงาน พ่อบุญธรรมสอนให้เขาเรียนรู้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆตั้งแต่เด็ก ส่วนแม่บุญธรรมสอนให้อ่านออกเขียนได้ก่อนเข้าโรงเรียน

แม้เขาจะไม่ ได้เกิดมาพร้อมกับวาสนา แต่ก็ยังโชคดีที่มีเพื่อนดีเสมอ รวมถึงหุ้นส่วนธุรกิจคนสำคัญ “สตีเฟน วอซเนียก” รุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเจอกันในช่วงเรียนไฮสกูล ขณะนั้น “จ๊อบส์” อายุ 14 ปี ส่วน “วอซ” โตกว่า 5 ปี ต่อมาทั้งคู่ได้กอดคอกันทำธุรกิจ ล้มลุก คลุกคลานด้วยกันมาหลายปี กระทั่งจับจุดถูกจับมือกันก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ที่ชื่อว่า Apple Computer เป็นครั้งแรกที่โรงรถในบ้านของเขาเอง และ ภายในเวลาแค่ 3 ปีเศษ “จ๊อบส์” ก็กลายเป็นเจ้าของบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ ที่มีรายได้นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนั้นเขาอายุ 25 ปี

ก่อนจะค้น พบเส้นทางสู่ความเป็นหนึ่ง “จ๊อบส์” เคยสับสนในชีวิตพักใหญ่ เขาตัดสินใจหยุดเรียนกลางคัน เพราะผิดหวังกับระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และสงสารพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อจ่ายค่าเทอม แพงๆ ช่วงนั้นชีวิตของเขามืดมนเคว้งคว้าง ต้องไปอาศัยนอนที่พื้นห้องของเพื่อน และหารายได้ประทังชีวิตด้วยการเก็บขวดโค้กขาย และเข้าคิวรับบริจาค อาหารจากโบสถ์ ยังดีที่ภายหลังตัดสินใจกลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง (แม้จะ เรียนไม่จบ) โดยลงเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการคิดค้น ประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆในเวลาต่อมา

ช่วง ที่กลับมาเรียนมหาวิทยาลัยรอบสอง “จ๊อบส์” เริ่มหันมาศึกษาพุทธศาสนานิกายเซน และฝึกนั่งสมาธิ เมื่อลาออกจากมหาวิทยาลัยรีด เขาตัดสินใจเดินทางไปอินเดียกับเพื่อนรัก เพื่อค้นหาคำตอบเรื่องการรู้แจ้งเห็นจริง และการหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณ ตอนนั้นเขาโกนหัว ใส่ชุดนักบวช กินมังสวิรัติ และนั่งสมาธิด้วยศรัทธาแรงกล้า

ว่ากันว่าการเข้าถึงวิถีแห่งเซนที่ มุ่งศึกษามาหลายสิบปี โดยเน้นการ ปฏิบัติสมาธิ และแสวงหาหลักความจริง โดยถือคติว่าเวลาดีที่สุดคือปัจจุบัน ทำให้เขาเข้าใจแก่นแท้ของชีวิตและการทำงานอย่างมีสติ ที่สำคัญยังเป็นรากฐานหนุนส่งให้ “สตีฟ จ๊อบส์” กลายเป็น “สตีฟ จ๊อบส์” เช่นทุกวันนี้

“ถ้าคุณใช้ชีวิตราวกับว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของ ชีวิต วันหนึ่ง คุณก็จะสมหวัง…ทุกเช้าผมจะมองกระจก และถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้เป็น วันสุดท้าย ผมอยากทำอะไร และวันนี้ผมจะทำอะไร หากได้คำตอบว่า ไม่อยากทำอะไรหลายๆวันติดต่อกัน ก็ต้องรู้ตัวว่าถึงเวลาเปลี่ยน แปลงบางอย่างในชีวิตได้แล้ว”

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 8 ต.ค. 54

แสดงความคิดผ่าน Facebook