ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ทุกคนมีแนวทางการดำเนินชีวิตตามแบบของตน แต่ละคนต้องการมีความสุขความสมบูรณ์ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ความหวังและความฝันของคนเริ่มห่างไกลจากความเป็นไปได้ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่ต้องพบกับปัญหาการตัด ลด งบประมาณ การรักษาคุณภาพการศึกษา การแข่งขันและแย่งชิงผู้เรียนทั้งในระหว่างมหาวิทยาลัย และภายในมหาวิทยาลัยเองระหว่างคณะวิชาหรือสาขาวิชา รวมทั้งเทคนิควิธีหรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา เช่น

ระบบการศึกษาทางไกลด้วยการใช้อินเตอร์เน็ตในการเรียนการสอน ถึงแม้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำยังคงรักษาปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาไว้ แต่อาจเป็นเพียงร่องรอยที่จารึกบนแผ่นป้ายชื่อที่ติดไว้รวมกับชื่อของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และการแสวงหาอำนาจของผู้บริหารกลับถูกมองว่าถูกนำมาเป็นหลักสำคัญของการบริหาร

ปรัชญาของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีพลังในการชี้นำสังคมและสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกใช้ชีวิตให้กับคนในสังคม เช่น การสร้างความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม ความดีงามถือเป็น “คุณค่า” (Value) ที่ดีกว่าทรัพย์สินเงินทอง แต่ระยะที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่มีการขยายตัวของสถาบันการศึกษาอย่างมาก ปรัชญา และความเชื่อในการนำมาใช้เป็นฐานของการจัดการศึกษาเปลี่ยนไปและส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งอยู่ในภาวะวิกฤติหลายอย่าง เช่น สถานภาพของบุคลากรในมหาวิทยาลัย คุณภาพของผู้จบการศึกษา มาตรฐานการศึกษา และคุณค่าของความรู้รวมทั้งความเป็นมนุษย์สำหรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งฐานการเกิดวิกฤติเหล่านนี้ส่วนหนึ่งมาจากการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจ ภาวะวิกฤติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นประเด็นสำหรับนักวิชาการและผู้นำการบริหารต้องตระหนักเพื่อการทบทวนนโยบายการศึกษาใน 4 ประการดังนี้

1. สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน (The status quo) การละเลยแนวคิดการสร้างสภาพสังคม (Society) แบบองค์รวม (Holistic) โดยให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคล (Individuality) หรือ ส่วยย่อย (Atomistic) มากเกินไป หรือเรียกว่า “พัฒนาคนแต่ไม่พัฒนาสังคม” ทำให้ประโยชน์ของบุคคล (บางคน) สำคัญมากเท่า ๆ หรือมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนั้นยังพยายามแยกแยะ องค์ความรู้เป็นส่วน ๆ ด้วยการเปิดการเรียนการสอนสาขาวิชา ย่อย ๆ จำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะของการ “รู้มากขึ้น ๆ ในเรื่องเล็กลง ๆ” (know more and more about less and less) และมีข้อโตเถียงในเชิงปรัชญาด้วยการ “ตั้งคำถาม” ในปัจจุบันผู้ที่ได้รับการชื่นชมยกย่องมักจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างคำถาม ใช้วาทกรรม และถามต่อ ๆ ไปได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งไม่อาจพบคำตอบหรือให้คำตอบได้เลย ทั้ง ๆ ที่สังคมและบุคคล “ต้องการคำตอบมากกว่าคำถาม” และสุดท้ายทำให้สาธารณะชนเกิดอาการของความรู้สึกว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม “ไม่ได้อะไร จะมีแต่เสียเปล่า” (Nothing but bungling)

จากภาวะดังกล่าวและรวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ อีกมากทำให้รูปแบบ (Model) ของการคิด การใช้ชีวิต ส่งผลไปถึงพฤติกรรมการทำงานและการกำหนดนโยบายสาธารณะและสังคม โดยเป็นรูปแบบที่ตัดสินคุณค่าด้วยตนเอง (Self-justifying) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คิดเอาเอง” เป็นส่วนมาก แม้จะมีการเรียกร้องให้รู้จักเสียสละเพื่อสังคม แต่ยังไม่สามารถลบล้างความรู้สึกแห่งตัวบุคคลได้

2. การเกิดขึ้นของทฤษฎีใหม่ (New Theories) จากผลของความคิด ความเชื่อ และปรัชญาในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันและสร้างปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดมีทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาจากความคิด ความเชื่อที่เป็นปรัชญาเดิม ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา การพยายามผลักดันทฤษฎีใหม่ ๆ ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบอบการเมือง ความสัมพันธ์ของคนในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษา ด้วยการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ยอมรับการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทางไกล ให้ความสำคัญกับใบอนุญาตประกอบอาชีพ และสภาวิชาชีพในการกำหนดสมรรถนะวิชาชีพ และควบคุมเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัย และผู้เรียนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเรียนมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นของใหม่ที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหลาย ๆ ทฤษฎี หรือวิธีการยังอยู่ระหว่างการปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

3. ด้านของการปฏิรูป (Areas of Reform) ได้มีการพยายาม “ปฏิรูปการศึกษา” ในด้านต่าง ๆ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการให้สมดุล และสำเร็จตามเป้าหมายได้ การปฏิรูป อาจจะต้องมีครั้งต่อ ๆ ไป อีกหลายครั้ง แต่ละครั้งสร้างผลงานและสร้างงานที่นำผลประโยชน์มาให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องแต่ละกลุ่ม วนเวียนไปเรื่อย ๆ การปฏิรูปที่ควรนำไปใช้สำหรับการดำเนินการควรให้ความสำคัญในด้านต่อไปนี้

3.1. ด้านสมรรถนะของบุคลากร การให้ความสำคัญกับความคิดในเชิงโครงสร้างตามกฎหมายด้วยการกำหนดคุณสมบัติด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามตำแหน่ง หรือชื่อของตำแหน่งสายงานต่าง ๆ ทำให้ไม่อาจได้ผู้ที่เหมาะสมและมีความสามารถ การจัดบุคลากรเข้าแท่ง หรือ กลุ่มงานต้องได้รับการทบทวนหรือพิจารณาให้ยืดหยุ่นกว่านี้ นอกจากนั้นกฎหมายหรือระเบียบที่กีดกันและสร้างความไม่เป็นธรรมแก้บุคลากรต้องได้รับการปรับปรุง ตัวอย่างเช่น “ข้าราชการในมหาวิทยาลัยในกำกับบางแห่งไม่สามารถเป็นผู้บริหารได้” เพราะเพียงเป็นข้าราชการตามที่เคยเป็นตั้งแต่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งมาแต่ต้น ซึ่งไม่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานภายหลังเท่านั้น การกีดกันการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารลักษณะนี้เป็นตัวอย่างของการพิจารณาตามชื่อตำแหน่ง หรือ สถานภาพมากกว่าความสามารถของบุคคลซึ่งมีปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่าง ๆ

3.2. การนำความรู้มาใช้ การบริหารจัดการในทุกระดับและทุกภาคส่วนเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การใช้ศิลป์อาจเป็นความเฉพาะและสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นได้ ล้วนเป็นช่องทางการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตาม ในการบริหารควรต้องนำระบบที่แน่นอน เที่ยงตรง และเชื่อถือได้มาใช้ควบคู่ไป ไม่ควรปล่อยให้ระบบหรือการดำเนินงานอยู่ในอำนาจของผู้บิหารใช้ดุลยพินิจหรือใช้ศิลป์ของการบริหารมากเกินไป ควรมีขอบเขตที่ชัดเจนบนฐานทางวิชาการ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ศาลปกครอง มีอำนาจในการตัดสินการใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารได้บ้างแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะในอดีต ถ้าเป็นดุลยพินิจแล้ว แม้แต่ศาลยังไม่สามารถบังคับให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจตามที่ศาลสั่ง นั่นหมายถึง “อำนาจบริหารถูกยกเว้นไว้ด้วยอำนาจตุลาการ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อำนาจตุลาการไม่ก้าวก่ายอำนาจบริหาร” มีตัวอย่างของการบริหารวิชาการของคณบดี หรือของมหาวิทยาลัยบางแห่งในการจัดการศึกษา ทั้ง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ยังใช้อำนาจในการบริหารสามารถหาเหตุผลเชิงบริหารมาดำเนินการสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายตามหลักการและทฤษฎีทางวิชาการได้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนและที่ไม่เป็นข่าวอีกจำนวนมาก

3.3. รับผิดชอบต่อสังคม สังคมไทยผ่านยุคระบบราชการ (Bureaucratic Age) ที่เข้มแข็งมาได้แล้ว การดำเนินงานต่อไปควรเลือกเอาความดีและความแข็งแรงของระบบราชการมาใช้ประกอบการสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคม สังเกตได้จากหน่วยงานราชการหลายแห่งปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากระบบราชการแบบดั้งเดิม ทำให้ “ประชาชนชื่นใจ” มากขึ้น สำนักงานเขตฯ ในกรุงเทพ ฯ เป็นตัวอย่างของที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศน่าศึกษาและนำไปใช้นอกจากนั้น ในมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและช่วยเหลือสังคม การเตรียมพร้อมทั้งความความรู้ ความคิด ความรู้สึก และกำลังคนและเครื่องมือสำหรับความช่วยเหลือสังคมอาจเป็นความจำเป็นสำหรับยามสงบ และเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินหรือมีภัยพิบัติเกิดขึ้น นอกจากจะต้องช่วยเหลือตัวเองได้แล้วอาจต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

เมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 สถาบันการศึกษาหลายแห่งสามารถปรับตัวและดำเนินการช่วยเหลือสังคมได้อย่างดี ในขณะที่สถาบันการศึกษาบางแห่ง แม้จะมีชื่อเสียงมานานแต่ยังไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเท่าที่ควร

4. รูปแบบใหม่ (New Model) การจัดการศึกษาระดับปริญญาเอกหลายแห่งนิยมให้นักศึกษาระดับปริญญาเอกศึกษาและพัฒนา รูปแบบ (Model) อาจเป็นทั้งการวิเคราะห์และสังเคราะห์ หรืออื่น การจัดการศึกษาในลักษณะนี้เป็นการช่วยแก้ปัญหา “รู้มากในเรื่องเล็ก” นำไปสู่การทำความเข้าใจกับระบบส่วนใหญ่ที่เป็นจักรวาล ของความรู้ในด้านต่าง ๆ และถ้าเข้าใจองค์รวมแล้วจะนำไปสู่ความเข้าใจในส่วนประกอบได้ง่าย ถ้ามุ่งแต่ส่วนย่อย ๆ แล้ว จะไม่มีทางเข้าใจองค์รวมได้เพราะถูกจำกัดด้วยขอบเขตแห่งความรู้ อุปมาเหมือนถ้าเรียนรู้เฉพาะเรื่องไข่ไก่อย่างเดียวจะทำให้ขาดความรู้เรื่องแม่ไก่หรือสัตว์ออกไข่ได้ การขยายฐานความรู้ที่กว้างอาจจำเป็น เพราะความรู้ที่บรรพชนให้มาอาจไม่เพียงพอสำหรับการนำไปใช้กับคนที่เพิ่มขึ้นและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ความเชื่อเดิมที่ว่า “ยิ่งเรียนมากยิ่งรู้น้อยลงแต่ลึก” นั้นอาจต้องมีการทบทวนเพื่อการนำพาสังคมได้อย่างเหมาะสม

สรุป

ปรัชญาและความคิดในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมควรหันมาให้ความสนใจและให้ความสมดุลกับดุลยภาพของความรู้ระหว่าง องค์รวม (Holistic) กับ ส่วนย่อย (Atomistic) มากขึ้น การสร้างผู้ชำนาญเฉพาะเรื่อง (Specialists) จำนวนมาก อันเป็นผลพวงจากแนวทางการจัดการศึกษาในอดีตที่เน้นปริญญาชั้นสูงจำนวนมากในสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งการเปิดสาขาวิชาที่แยกย่อย ๆ ออกจำนวนมากของมหาวิทยาลัยควรต้องมีการจัดการส่งเสริมให้สามารถพัฒนาคนได้ทั้งผู้ที่สามารถเข้าใจองค์รวมมากขึ้น หรือสร้างผู้ที่เป็นผู้รู้รอบ (Generalists) ซึ่งเกิดจากหลักสูตรประเภทสหวิทยาการ (Interdisciplinary) และผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรีให้มีคุณภาพสูง กำหนดจำนวนการผลิตระดับปริญญาโท และเอกให้เหมาะสม ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผู้จบการศึกษาให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่นำคุณวุฒิไปเชื่อมโยงกับฐานเงินเดือนและความก้าวหน้าในอาชีพมากเกินไปจนทำให้เกิดค่านิยมปริญญาสูง ๆ

มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาควรทบทวนความปรัชญาของ “โอกาสทางการศึกษา” และ “ความเสมอภาคทางการศึกษา” การนำความคิดดังกล่าวไปใช้อาจเกิดการใช้เป็นข้ออ้างในการตีความเพื่อจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของบุคคล โดยมีผลประโยชน์เชิงธุรกิจเป็นสำคัญ

มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พ.ศ. 2554 นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง (Specialists) จำนวนมาก แต่ยังขาดผู้รู้และเข้าใจหลายเรื่อง (Generalists) การแก้ปัญหาในสังคมและชีวิตประจำวันนั้นบางครั้งไม่ต้องการความรู้เชิงลึกมากนัก แต่ต้องการความรู้เชิงบูรณาการมากกว่า และความรู้นั้นเป็นความรู้สำคัญสำหรับการพัฒนาสังคมและประเทศอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
อ้างอิง ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 ธ.ค. 54

แสดงความคิดผ่าน Facebook