ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

กสต.3 เปิดเวทีเสวนา “รู้ทันสื่อออนไลน์ ก่อนเด็กไทยไร้อนาคต!! ชี้ทางออกวิกฤติเด็กไทย ท่ามกลางยุคดิจิตอล ด้าน สสส.ชี้ การตลาดจุดเสี่ยงเด็กไทยใช้สื่อออนไลน์ ขณะที่ ผอ.นิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มธบ.เผยโซเชียลเน็ตเวิร์กถูกนำมาใช้หวังผลเชิงการตลาด แนะภาครัฐบทบาทชัดเจน…

เมื่อวานนี้ (1 ก.ย.) สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรสื่อมวลชนระดับต้น รุ่นที่ 3 กลุ่ม 4 จัดงานสัมมนา หัวข้อ “รู้ทันสื่อออนไลน์ ก่อนเด็กไทยไร้อนาคต!!” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาทางออก ท่ามกลางยุคดิจิตอล ให้เด็กและเยาวชนก้าวไกลอย่างสร้างสรรค์

สุพัฒนุช สอนดำริห์สุพัฒนุช สอนดำริห์

นาง สาวสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด สสส. กล่าวว่า สื่อออนไลน์ของสังคมไทยในปัจจุบัน มีทั้งสร้างสรรค์ และเกิดปัญหา ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในมุมมองต่างๆ พบว่า ขณะนี้สังคมไทยยังไม่มีการพูดถึงปัญหาหรือปมที่เกิดขึ้นจากภัยของสื่อสังคม ออนไลน์เท่าใดนัก และได้รับการยืนยันจากผลรายงานเชิงการแพทย์ถึงพฤติกรรมในเด็กระบุว่า การอ่านหนังสือ กลับมีผลทำให้กระบวนการคิดเป็นระบบมากขึ้น งานวิจัยได้นำการอ่านหนังสือปกติ เปรียบเทียบกับการอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างไอแพด กลับพบว่า เด็กที่อ่านหนังสือบนไอแพด มีความเสี่ยงที่สมองจะสั่งงานเป็นในระยะเวลาสั้นๆ หรือเรียกว่าสมองสามารถเลี้ยวได้ตลอดเวลา ผ่านการคลิก หรือสัมผัสบนหน้าจอ ต่างจากการอ่านจากหนังสือที่ส่งผลต่อระบบการคิด พิจารณาข้อมูล ต่อยอดความจำต่อสมอง ขณะเดียวกันยังฝึกให้เด็กมีความอดทน ซึ่งสมองจะพัฒนาสร้างความจดจำได้นานและลึกกว่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด สสส. กล่าวต่อว่า กรณีศึกษาจากประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า เคยมีแนวคิดการใช้ระบบการเรียนบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ท้ายสุดกลับถูกยกเลิกแนวคิดดังกล่าว โดยผู้เริ่มต้นแนวคิดต้องออกมาขอโทษ เนื่องจากผลการศึกษาชี้ชัดว่า เด็กที่ใช้เวลาหรือการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์กลับมีสมาธิสั้น ไอคิว-อีคิวแย่ลง และอาจต้องย้อนกลับมามองว่า แนวคิดปรับการเรียนการสอนเข้าไปใช้บนไอแพด หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะส่งผลดีต่อระบบการศึกษาหรือไม่

ใน มุมมองของงานการตลาด เริ่มมีการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาใช้อย่างชัดเจน ถือเป็นการใช้การตลาดที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง ส่งผลกระทบหลากหลายมิติ อาทิ มิติทางสังคมล้วนกระทบคนหมู่มาก จากการนำเสนอคลิปใช้ความรุนแรง เรื่องเพศ และมีแนวโน้มที่นักการตลาดจะหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยขาดความระมัดระวังประเด็นกระแสสังคม นี่คือจุดอันตรายของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสังคมไทยต้องเผชิญ” นางสาวสุพัฒนุช กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด สสส. กล่าวอีกว่า สื่อออนไลน์ไม่เพียงมีแต่โทษ ขณะเดียวกัน ในมุมสร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนสามารถเลือกใช้ได้ก็มี เช่น การทำอาชีพเสริมด้วยการขายของ หรือการช่วยเหลือด้านจิตอาสาบนสื่อโซเชียลเน็ตเวิรก ซึ่งการใช้สื่อประเภทนี้จึงอาจจะต้องควบคุมอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

นางสาวกุลทิพย์ ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ หรือ มธบ. กล่าวว่า การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ปัจจุบัน เป็นการสื่อสารผ่านสื่อดิจิตอล ที่มาในรูปแบบต่างๆ อาทิ บล็อก ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ลิงก์อิน ยูทูบ สไลด์แชร์ โดยแนวโน้มการใช้สื่อออนไลน์ของคนไทย หลักๆ มาจากโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งมีชื่อคุ้นหู อย่างเฟซบุ๊ก โดยมียอดสมัครใช้บริการแล้วกว่า 16 ล้านคน และหากแบ่งประเภทของผู้ใช้ตามวัยพบว่า ช่วงอายุ 18-24 ปี ใช้ถึง 34% ช่วงอายุ 25-34 ปี ใช้ถึง 29% รองลงมาจะเป็นทวิตเตอร์ที่มีสมาชิกแล้วกว่า 8.5 แสนคน ส่วนยูทูบมีผู้เข้าใช้งานต่อวันมากกว่า 5 ล้านคน

“ปัจจัย ที่ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด เพิ่งเกิดขึ้นช่วงวิกฤติน้ำท่วมช่วงปลายปี ที่ผ่านมา เหมือนเป็นแรงส่งให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้สื่อออนไลน์ในการหาข้อมูลมากขึ้น จนพัฒนาและกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่น่าสนใจสื่อสังคมออนไลน์ยังถูกนำเข้ามาใช้เพื่อหวังผลเชิงการตลาด หรือมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างแรงจูงใจต่อการซื้อสินค้า ด้วยกลยุทธ์การสมัครเป็นสมาชิกผ่านแฟนเพจ” ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต  มธบ. กล่าว

กุลทิพย์ ศาสตระรุจิกุลทิพย์ ศาสตระรุจิ

นาง สาวกุลทิพย์ กล่าวต่อว่า ช่องทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ 40% ใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ รองลงมาเป็นโทรศัพท์มือถือ 33% และโน้ตบุ๊ก 25% ส่วนการใช้สื่อออนไลน์เพื่อประโยชน์อะไรมากที่สุด ส่วนใหญ่ 53% ตอบว่าใช้เพื่อความบันเทิง รองลงมาเพื่อค้นหาสาระความรู้ 47% ปัญหาจากการบริโภคสื่อที่พบคือ การเล่นเกม-เฟซบุ๊กจนเสียการเรียน 66% สายตาสั้น 18% และถูกหลอกลวง 15% นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าตกใจ คือ เด็กๆ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเล่นเกม เพื่อความบันเทิง ระบายอารมณ์ จีบกัน ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุย แชตแอนด์แชร์ สร้างสังคม สร้างโลกส่วนตัว และเป็นเพื่อนแก้เหงา

ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต  มธบ. กล่าวอีกว่า ทางออกของเด็กไทยกับสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐอาจต้องมีบทบาทเพื่อหาแนวทาง หรือวิธีในการกำหนดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การแบ่งระดับการเข้าถึงสื่อของเด็กไทย รวมถึงเสริมสร้างกระบวนการทางความคิดพร้อมๆ กับหากิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งแน่นอนเมื่อปัจจุบันเด็ก และเยาวชนไทยได้รับการส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกวิธี การเติบโตของประเทศ ซึ่งควบคู่ไปกับสถานการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็จะเกิดแนวทางการใช้สื่อออนไลน์ที่เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างสรรค์อย่างแท้จริงในอนาคต

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

แสดงความคิดผ่าน Facebook