ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

เด็กสาวใจกล้า’โชว์เต้า’แลก’ไลค์’

เด็กสาวใจกล้า “โชว์เต้า” แลก “ไลค์” ว่อนเฟซบุ๊ก ก.วัฒนธรรม ชี้ไม่สร้างสรรค์ เข้าข่ายผิดกฎหมาย

          สังคมแห่งการแบ่งปัน หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีการตั้งแฟนเพจขึ้นมา เพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ มากมาย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีไม่น้อยที่ตั้งแฟนเพจขึ้นมาแบ่งปันในเรื่องราวที่ไม่สร้างสรรค์ และเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเยาวชนหญิง ที่ชอบโพสต์รูปตัวเอง โชว์หน้าอก ผ่านกลุ่มแฟนเพจต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 10 แฟนเพจ  อาทิ  สมาคมนิยมเด็กXXX, สมาคมนิยมสาวคัพซีXXX,   สมาคมคนส่งนม XXX, สมาคมนิยมสาวโชว์นม XXX, และสเตตัสคมๆ จะสู้รูปโชว์นม XXX เป็นต้น ซึ่งบางแฟนเพจมีผู้เข้ามากดไลค์ร่วม 4 แสนราย

           บรรดาสาวน้อยใจกล้า วัยละอ่อน อายุราวๆ 15-20 ปี ซึ่งพวกเธอล้วนมีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ และพร้อมแชร์รูปได้อย่างรวดเร็วทันใจผ่านเครือข่ายออนไลน์ ต่างมาร่วม “ถูกใจ” แฟนเพจเหล่านี้ เพื่อมีสิทธิ์โชว์เนิน โชว์นม กันได้อย่างเต็มที่ ด้วยการแนบภาพวาบหวิวพร้อมข้อความ อาทิ “ฝากรูปด้วยนะคะ ไม่สวยอย่าว่ากันนะ”, “เห็นเขาโพสรูปก็อยากโพสบ้าง”,  “ถึงนมหนูจะเล็ก แต่หนูก็…จัดนะ”, “หน้าตาไม่สวย แต่อยากมีไลค์บ้าง ขอบคุณ” และ “ประสงค์ออกนม ไม่ประสงค์ออกนาม” เป็นต้น

“ชอบกด like ..ใช่กด share” เป็นเสมือนเสียงปรบมือชื่นชมในสิ่งที่พวกเธอกล้าเปิดเผย และจะหลงภูมิใจกับสิ่งที่โชว์ไปมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับตัวเลขของการแชร์และกดไลค์นั่นเอง

แต่หารู้ไม่ว่า..สิ่งที่พวกเธอแสดงออกนั้น อาจกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย..”ประสพ เรียงเงิน” ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ยอมรับว่า ช่วงนี้พบปัญหาลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง และมีการแจ้งเข้ามาที่ช่องทางสายด่วนวัฒนธรรม 1765 เป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจสอบพบภาพและข้อความที่ไม่เหมาะสม ก็จะประสานกับกระทรวงไอซีที ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดำเนินการ และหากพบรูปหรือคลิปที่เข้าข่ายลามกอนาจาร ก็จะมีการประสานเพื่อแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินการต่อไป

“การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ถ้าใช้ในทางที่เป็นคุณนั้นก็เห็นอยู่ทั่วไป ที่มีการใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้กัน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่นำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง คือมีการใช้แบบผิดกฎหมาย ละเมิดกฎหมายทั้งผู้โพสต์และผู้ที่เป็นผู้ให้บริการ อยากจะฝากเตือนว่าเมื่อมีการโพสต์ไปแล้วเราไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ ทุกอย่างจะย้อนเข้ามาหาตัวเราเอง กลายเป็นโทษในอนาคตได้ อยากจะให้เด็กๆ คิดให้รอบคอบก่อนที่จะโพสต์อะไรไป ที่สำคัญอยากให้ผู้ปกครองสนใจดูแลเด็ก เพราะทุกวันนี้ พ่อแม่ซื้อสมาร์ทโฟนให้แต่ไม่เคยติดตามหรือตักเตือนการใช้ที่เป็นประโยชน์ เพราะความคึกคะนองอาจทำอันตรายมาสู่ตัวบุตรหลานของท่านเองได้” ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม แนะนำ

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ว่า การแสดงตัวตนและความต้องการการยอมรับแบบผิดๆ ของวัยรุ่นสมัยนี้ เพียงเพื่อให้มีคนอื่นมากดถูกใจ หรือกดไลค์ เป็นการกระทำที่ฉาบฉวย และเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสังคม ล่อแหลม ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนที่ไม่สามารถจะทำให้คนอื่นยอมรับได้ตามปกติได้ จึงเลือกใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้

“โดยเฉพาะเด็กสาววัยมัธยมนั้น เพราะเด็กๆ เหล่านั้นยังขาดการไตร่ตรอง ขาดประสบการณ์ เป็นวัยที่กำลังต้องการแสวงหาตัวตน และแสดงออกเพื่อที่จะมีคนยอมรับ ก็อยากจะให้คนที่จะคิดโพสต์รูปเพียงเพราะต้องการให้มีการยอมรับนั้น ไตร่ตรองและคิดให้ดีเสียก่อน เพราะมันมีโทษมากกว่าประโยชน์” พญ.อัมพร กล่าว

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 13-10-2555

แสดงความคิดผ่าน Facebook