สวัสดีครับ วันนี้ก็จะเวลามาขยายความเรื่องที่บ่นค้างไว้เมื่อบทความที่แล้วว่า “บ่นอะไรดี?” เอาเรื่อง คำว่า “สภาพจริง” ก่อนดีว่า เพราะว่าตอนนี้องค์กรที่งานอยู่ก็เริ่มการมีการประเมิน รอบสาม จาก สมศ.(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา)
ไม่ขอพูดอะไรมากครับ เพราะพูดไปบ่นไปก็เท่านั้น เนื่องจากผมเป็นคนธรรมดาปกติ ไม่มีอำนาจ บารมี หรือตำแหน่งอะไร ที่พูดแล้วใครจะต้องฟังหรือปฏิบัติตาม ก็ได้แต่บ่นให้ตัวเองฟังไว้เตือนสติ และให้ผู้อื่นรับรู้ว่า ก็ยังมีคนที่คิดแบบนี้อยู่ (ก็แค่นั้น)

สำหรับผมแล้ว ขอพูดว่า การศึกษา คือ การโชว์ออฟ ครับ อะไรๆ ก็มีแต่จะโชว์และแข่งขันกัน (แข่งขันกันว่าใครเก่งกว่า แข่งขันกันว่าใครมีอะไรดีกว่า อยู่อย่างนี้แหละคำ) …การศึกษาเลยไม่มีคุณภาพ (ตามความคิดผม) เพราะถึงแข่งกันอย่างไรก็ไม่มีทางเท่าเทียมกันหรอกครับ ธรรมชาติสร้างมาแล้วให้แตกต่างและมีข้อเด่นข้อดีกันคนละด้าน ขอให้เอาข้อเด่นของตัวเองแล้วทำให้ดี พัฒนาให้เกิดศักยภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องไปแข้งกับใคร เอาเวลามาพัฒนาตนเอง องค์กรและประเทศชาติจะดีกว่า

คำว่า สภาพจริง นักวิชการชอบใช้กัน ฟังแล้วให้ดูดี อะไรๆก็สภาพจริง เวลาจะให้สอนก็ ให้สอนตามสภาพจริง และประเมินตามสภาพจริง ปกติก็สอนปกติล่ะครับ มันก็สภาพจริงอยู่แล้ว สรุปตอนนี้ครูทุกคนสอนและประเมินตามสภาพจริงครับ แต่ทำไม่เมื่อถึงเวลาประเมิน ไม่ว่าจะมาจากหน่วยงานไหน หรือรายการอะไร ทำไม? ท่านไม่มาประเมินตามสภาพจริงบ้าง เพราะเห็นมีการประเมินทีไร เป็นต้องเตรียมเอกสารกันจ้าละหวั่นอยู่ร่ำไป อะไรกันหนักกันหนากับเอกสาร ผมว่าให้กรรมการมาประเมินตามสภาพจริงเลยครับ เพราะครูทุกท่านก็สอนกันมาเกือบจะเกษียณกันแล้ว มาตรฐานก็ต้องมีบ้างไม่ได้มาตรฐานบ้าง ก็มาให้คำแนะนำกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมีความแตกต่างกัน สภาพสังคม วัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกัน ฉะนั้นก็มีบ้างที่อาจจะได้มาตรฐานทุกเรื่องหรือไม่ได้มาตรฐาน แต่ผมเชื่อว่า เกิดการพัฒนาแน่นอน เด็กนักเรียนอาจจะไม่สามารถทำคะแนนได้ดีเยี่ยม ด้วยเพราะสภาพพื้นฐานทางการศึกษาที่แตกต่างกัน แต่เป็นคนที่มีคุณภาพจากการที่ได้มาโรงเรียน ได้ฟังคำสั่งสอนของครูให้ประพฤติดี สำหรับผมแล้วความเก่งไม่สำคัญ ขอให้เป็นคนตั้งใจ ขยันและเป็นคนดี แค่นี้ก็ถือว่าพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ต่อไป เพราะสิ่งสำคัญ คือการนำความรู้ไปใช้ดำรงชีวิต คนเก่งอาจไม่สามารถดำรงชีวิตได้ เพราะไม่ทักษะชีวิต ผิดหวังสอบตก ตัดสินใจในทางที่ผิด แต่คนที่ไม่เก่งบางครั้งก็มีทักษะชีวิตเอาตัวรอดอยู่ในสังคมและช่วยเหลือสังคมได้ ผมว่าน่าจะดีกว่า

แต่ดูแล้วการประเมินก็เพียงแค่ดูหลักฐานและประเมินการเกณฑ์ตัวชี้วัด อาจจะมีผลดีกับองค์กรที่มีคนไม่ทำงาน แต่สำหรับคนที่ทำงานปกติ มันทำให้เป็นภาระและเสียเวลาในการพัฒนาการเรียนการสอน เพราะครูแต่ละท่านมัวแต่ทำเอกสารเตรียมประเมิน จนลืมไปว่างานหลักๆที่ได้เงินเดือนทุกวันนี้คือภาระงานสอนที่ต้องรับผิดชอบนักเรียน นี่สำคัญกว่า (ต้องขออภัยหากมองต่างมุมนะครับ)
องค์กรแต่ละองค์มีข้อเด่นกันคนละด้าน ก็ไม่จำเป็นต้องให้ดีเด่นทุกด้านเพราะธรรมชาติไม่มีอะไรดีทุกเรื่องหรอกครับ ยอมรับสิ่งที่พบพร่องบ้างเพื่อจะได้พัฒนา ใครจะมาประเมินอะไรก็มา เพราะถือว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบตามกำลังความรู้ความสามารถที่มีอยู่

ผมก็บ่นอยู่อย่างนี้มาครึ่งชีวิตแล้ว (ก็ได้แต่บ่นครับ) แต่บังเอิญไปเจอข่าวเรื่อง “นักวิชาการชี้ถึงเวลายกเครื่องพ.ร.บ.การศึกษา” มันก็ตรงกับที่ผมบ่นมานาน นั่นหมายความว่า เมื่อใครก็ตามที่มีบทบาท หรือนักวิชาการ จับเรื่องนี้ขึ้นมาก็อาจต้องยอมรับ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาได้แล้ว (คนธรรมอย่างเรา (บินไม่ได้) พูด ไม่มีผลไรหรอกครับ

สำหรับรายละเอียดของข่าว มีดังนี้ครับ
วันนี้ ( 22 พ.ย.)  ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในการประชุมเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 : ถึงเวลาแก้ไขได้หรือยัง”  ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  ว่าที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วต้องแก้ไข พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542  อีกครั้ง เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก แต่การศึกษาไทยยังตามไม่ทัน  นอกจากนี้เห็นว่าการปฏิบัติกันมาตามกฏหมายดังกล่าวก็ยังไม่ได้ผลหลายเรื่องขณะที่บางเรื่องควรยกเลิกได้บ้างแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการประเมินการศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ. )ที่เริ่มมานานและน่าจะเลิกได้แล้วเพราะเป็นภาระกับโรงเรียนและครูมาก  แต่ควรให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนประเมินให้มากขึ้น และควรเป็นเวลาของการนำผลประเมินไปปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้น

 ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นว่าเป้าหมายของการศึกษาตาม พ.ร.บ.ที่เน้นคุณภาพ  ประสิทธิภาพและการกระจายโอกาสยังไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง  จากผลการประเมิน คุณภาพของการศึกษากลุ่มต่างๆยังด้อยอยู่  มีปัญหาประสิทธิภาพมากโดยที่การศึกษาใช้เงินมากแต่ได้ผลน้อย  และการกระจายโอกาสยังไม่ดีเท่าที่ควร  รวมถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็เดินไปได้ช้ามาก  ทั้งๆ ที่ท้องถิ่นมีความพร้อมขึ้นมากแล้ว  ส่วนเรื่องของครูแม้จะมี พ.ร.บ. เกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 2 ฉบับแต่วิชาชีพครูก็ไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดหวังซ้ำยังมีปัญหาใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก เช่นการแต่งตั้งโยกย้ายครู  การเลื่อนวิทยฐานะ  เป็นต้น  ส่วนของอุดมศึกษาเองแม้ พ.ร.บ. จะกล่าวไว้เพียงเล็กน้อยว่าให้มหาวิทยาลัยมีอิสระแต่กลับเป็นปัญหามากเช่นกัน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรกันอย่างกว้างขวาง  และขาดการดูแลคุณภาพอย่างจริงจัง

“ที่ประชุมยังเห็นว่าปัญหาใหญ่ของการศึกษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีศึกษาบ่อยเกินไปทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง  จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่นานขึ้นหน่อย และควรหันมาสนใจการศึกษาอย่างจริงจัง และยังเสนอว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมาเริ่มประเมิน พ.ร.บ.ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กันอย่างลึกซึ้ง จริงจัง และรอบด้านมากขึ้นและวางแนวทางเพื่อแก้ไขกันอย่างจริงจังด้วย”  ศ.ดร.ไพฑูรย์  กล่าว
ที่มา http://www.dailynews.co.th

แสดงความคิดผ่าน Facebook