ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

การศึกษาของไทยกลายเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้ง ไม่ใช่ข่าวใหม่แต่เป็นเรื่องเก่าซ้ำซากนั่นก็คือการศึกษาที่ล้มเหลว รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ในกลุ่มเด็กไทยอายุ 15 ปี มีถึง 1 ใน 3 ที่ “ไม่รู้หนังสือ” อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดทักษะในการจัดการชีวิตประจำวันและการหางานทำ ที่จะต้องใช้ทักษะในการอ่านสูงกว่าระดับพื้นฐาน จึงต้องปฏิรูปด่วน

ธนาคารโลกชี้ให้ดูตัวเลขการส่งออกของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและขยายตัวแค่ 1% ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2557 ทั้งๆที่เคยขยายตัวถึง 13% ระหว่างปี 2549 ถึง 2553 ส่วนปี 2558 คาดว่าจะโตแค่ 0.5% ส่วนจีดีพีอาจโตอย่างมาก 3.5% เนื่องจากน้ำมันราคาถูก การท่องเที่ยวดี และการใช้จ่ายภาครัฐสูง ปัญหาคือความสามารถในการแข่งขัน

ความสามารถในการแข่งขันที่ตกต่ำมีสาเหตุสำคัญคือความล้มเหลวของการศึกษา ธนาคารโลกเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูด้วยการยุบรวมโรงเรียนในต่างจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลกันมากให้เหลือครึ่งหนึ่งและยุบห้องเรียนจาก 110,725 ห้อง เหลือเพียง 12,600 ห้อง ทำให้มีครูครบทุกห้อง มิฉะนั้นต้องรับครูเพิ่มอีกถึง 160,000 คน จึงจะเพียงพอ

แต่ปัญหาการศึกษาไม่ได้มีแต่เฉพาะปัญหาการขาดแคลนครูหรือโรงเรียน แต่ยังมีปัญหาหลักสูตรการศึกษาที่บกพร่อง และขาดอุปกรณ์การศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบท

อีกทั้งมีปัญหารูใช้เวลาถึง 97% ในการเขียนรายงานวิจัย เพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และอุทิศเวลาให้การสอนแค่ 3% จึงทำให้นักเรียนไทยได้รับการศึกษาที่ด้อยคุณภาพ

กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบ ประมาณมากที่สุด มีบุคลากรมากที่สุด และเป็นบุคลากรที่มีการศึกษาดีที่สุด แต่กลับไม่สามารถบริหารจัดการการศึกษาให้ก้าวหน้าทัดเทียม แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน นอกจากจะมีปัญหาคุณภาพครูแล้ว แม้แต่รัฐมนตรีศึกษาธิการก็อาจมีปัญหาเพราะมีการเปลี่ยนกันบ่อยไม่ทราบว่ายึดหลักความสามารถและเหมาะสมหรือไม่?

การศึกษาที่ล้มเหลว นอกจากทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้วยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนไทยเป็นอันมากจมปลักอยู่ในความยากจนแบบดักดาน จากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ผลการศึกษาพบว่าหัวหน้าครอบครัวของคนไทยที่ยากจนมีถึง 90% ที่จบการศึกษาแค่ระดับประถม มีอาชีพหลักคือการเกษตรหรือรับจ้างทั่วไป

นอกจากความยากจนแล้ว ความ ไม่เสมอภาคในการศึกษายังซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เลวร้ายลง และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทย จึงขอฝากปัญหานี้ไว้กับรัฐบาล คสช.ที่ประกาศว่าจะปฏิรูปในทุกด้าน และต้องฝากความหวังส่วนหนึ่งไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศจะ “สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่” ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษา.

อ้างอิง โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 12 มิ.ย. 2558 05:01

แสดงความคิดผ่าน Facebook