วันนี้พอจะมีเวลาว่างในช่วงของวันหยุดสุดสัปดาห์ สมองและจิตใจเริ่มปลอดโปร่ง พอที่จะได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความชีวิตได้บ้าง เลยนำเรื่องราวที่นานมาแล้วมานำเสนอ เพื่อบันทึกไว้เป็นความทรงจำในเรื่องของ PLC ที่เป็นกระแส สำหรับในวงการศึกษาอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะอะไรๆ ก็ PLC (อิอิ) จนบางครั้งไม่ทันได้ตั้งตัวว่าเนื้อหาหรือที่มาของคำว่า PLC คืออะไร มีจุดประสงค์อย่างไร และเงื่อนไขอย่างไร
แต่ด้วยเพราะเรื่องนี้นำเข้ามาเป็นนโยบายทางการศึกษา เลยถูกนำเข้ามาให้ผู้ปฏิบัติอย่างเร่งด่วน จนทุกคนเข้าใจตรงกันว่าต้อง PLC ถึงจะได้ผลตามที่ตามการ ทั้งๆที่จริงในความคิดของผม คิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนทำกันอยู่เป็นปกติในองค์กรอยู่แล้ว คือ การประชุมปรึกษาหารือ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแก้ปัญหา เพียงแต่ อาจจะไม่มีระบบ หรือหลักการชัดเจน เขาจึงนำหลักการมาใช้และจัดเป็นรูปแบบ มีหลักการชัดเจน เป็นการประชุม พูดคุย เพื่อแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ และมีหลักการ กลายเป็นกระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเอง

เหตุผลที่นำเรื่องนี้มานำเสนอ เพราะเห็นว่าบางท่าน ตื่นตระหนก ตกใจ และให้ความสำคัญซะจนวุ่นวาย จนลืมหน้าที่หลักของตนที่ปฏิบัติได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ควรเสริมตัวนี้เข้าไปก็สมบูรณ์แล้ว เพราะยังมีเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ให้เราได้ตื่นเต้นมากกว่านี้อีก การตื่นตระหนกใจ และให้ความสำคัญเกิน บางครั้งก็ทำให้ระบบบางอย่างวุ่นวาย (อิอิ)

ไม่ต้องแปลกใจว่ากระบวน PLC นี้มากไหน ก็คงหนีไม่พ้น ต่างประเทศอีกเช่นเคย ทฤษฎีและแนวปฏิบัติวงการศึกษาไทยส่วนใหญ่ก็ประยุกต์มาจากต่างประเทศที่เค้าทำแล้วประสบความสำเร็จ บ้างก็นำมาจากองค์กร์ บริษัท แล้วปรับเข้าการวงการศึกษา

ในต่างประเทศเค้าพูดถึง เรื่องชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541โดย คุณ “Richard DuFour” ป้าหมายจริงคือ ต้องการให้มีสิ่งเหล่านี้

1.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
2.การวิพากษ์วิจารณ์
3.การสะท้อนผลการปฏิบัติ
4.การทำงานร่วมกัน
5.การร่วมมือรวมพลัง
6.การมุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้
7.การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
8.การดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม

ซึ่งรายละเอียดและความเป็นมาสามารถศึกษาได้จากเอกสารและบทความ ในอินเทอร์เน็ต ที่มีนักวิชาการได้นำเสนออย่างมากมายครับ ที่ผมต้องการจะเน้นย้ำคือ ในกระบวนการ PLC ปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ นั่นคือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต้องมีสิ่งเหล่านี้

1. การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น
2. มีความซื่อสัตย์ในหน้าที่
3. มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในองค์กร
4. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกัลยาณมิตร
5. มีความเมตตากรุณา
6. มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน
7. มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น (นั่นคือต้องถอดหัวโขนออกก่อน)

แต่ในทางปฏิบัติ คงทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะหลักการของกระบวน PLC นักวิชาการได้เสนอไว้ว่าสมาชิกต้องประกอบไปด้วยใครบ้าง ผมว่าก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ปรับสภาพความเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนะครับ 🙂
เข้าประเด็นของหัวข้อในครั้งนี้ ก็คือ จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วม PLC ควรมีเท่าไหร่
คำตอบ คือ 5-7 คน หรือ 6-8 คน

แต่ก็ยังมีคำถาม และเหตุให้ต้องมาพิจารณากันอยู่เรื่องไปว่า 3 คนได้ไหม 5 คนไม่ได้ ต้อง 6 ขึ้นไป ซึ่งถกเถียงกันจนไม่ได้ทำกระบวน PLC ดูแล้วก็เป็นเรื่องไร้สาระ และตลกสิ้นดี สำหรับคนในวงการศึกษา ที่ต้องทำอะไรตรงเป๊ะ เค้าว่ามาอย่างไร ก็ไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยน หรือแก้สถานการณ์ล่วงหน้าได้ อีกอย่างก็จำเค้าบอกว่า แล้วก็เชื่อฝังอยู่ในหัวไม่ยอมเปิดใจรับฟังคนอื่น ผมเคยเจอมาแล้ว บางครั้งนำหลักการมาบอก ด้วยน้ำเสียงปกติ ก็ยังไม่เชื่อ แต่เชื่อในตัวบุคคลที่เค้าไว้ใจ และใช้เสียงดังกว่า (เออ ก็แปลกคนเรา อิอิ)

มีเรื่องเล่า ครั้งหนึ่ง ศึกษานิเทศก์ ได้มาดำเนินการประเมินการปฏิบัติของโรงเรียน และได้นำเสนอไปว่า ทางโรงเรียนมีกระบวนการ PLC 100 เปอร์เซนต์ แต่มีบางกลุ่มสาระฯ จำนวนสมาชิก 3 คน เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น และเป็นครั้งแรก ทางศึกษานิเทศก์ ก็ให้ข้อสังเกตไว้ว่า จำนวนสมาชิก 3 คนจะได้ไหม ในความคิดผมว่า ได้ครับ เพราะ เพิ่งเป็นการเริ่มต้น และมีข้อจำกัดที่กลุ่มสาระฯนั้นมีครูอยู่แค่ 3 คน เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อ PLC ครั้งต่อไป ที่จะต้องประกอบไปด้วยสมาชิกที่เค้ากำหนดไว้ อีกอย่างคุณครูจะได้ฝึกซ้อมการพูดคุยและเปิดใจก่อนที่จะมีบุคคลอื่นร่วมด้วย

ซึ่งจากที่ สำนักงาน ก.ค.ศ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอไว้ว่า สมาชิกในชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน ประกอบด้วย
1. ครูผู้สอน (Model Teacher)
2. ครูร่วมเรียนรู้ (Buddy)
3. ผู้เชี่ยวชาญ (Expert)
4. ฝ่ายวิชาการ หรือ หัวหน้ากลุ่มสาระ (Mentor)
5. ผู้บริหารสถานศึกษา (Administrator)

จะเห็นได้ว่าในทางปฏิบัติ หาก ครูร่วมเรียนรู้ เป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้วย ก็ถือว่าอยู่ในองค์กลุ่มเช่นกัน ฉะนั้นครบองค์ประกอบ แต่จำนวนคนได้แค่ 4 คน (ในความคิดผมเน้นให้ครบองค์ประกอบ แต่บางคนไม่มองรายละเอียด เพียงแค่ต้องการว่ากี่คน ก็พูดยากนะครับ)
ยังไงก็แล้วแต่ ทุกข้อกำหนดย่อมมีเงื่อนไข สำหรับเงื่อนไขการจัดกลุ่ม PLC คือ

  1. กลุ่มสาระเดียวกัน ระดับช่วงชั้นเดียวกันจะดีกว่า
  2. มีครูที่มีประสบการณ์สอนมานานอย่างน้อย 1 คน
  3. สมาชิกกลุ่ม ควรอยู่ระหว่าง 5-7 คน
  4. มีความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน
  5. มีครูที่มีทักษะด้าน IT อย่างน้อย 1 คน

ที่มา https://logbook-teacher.otepc.go.th/files/PowerPoint_LTeacher_240761.pdf

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ชวลิต ชูกำแพง คณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม กรรมการส่งเสริม PLC คุรุสภา ได้กล่าวถึงจำนวนผู้เข้าร่วม PLC ไว้ว่า นอกจากจำนวนสมาชิกในชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ จำนวน 5 คนที่กล่าวมาแล้ว ในระยะเริ่มต้นอย่างง่าย อาจประกอบไปด้วย 2 คน คือ ครูผู้สอน (Model Teacher) และครูร่วมเรียนรู้ (Buddy)

(อ้างอิง http://www.ires.or.th/wp-content/uploads/2018/03/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ.pdf)

แสดงความคิดผ่าน Facebook