ผมคอยติดตามและเฝ้ามองมาสักระยะแล้ว เห็นมีนโยบายใหม่ๆ เข้ามาในการศึกษาไทย คิดว่าการศึกษาไทยน่าจะเริ่มต้นเข้าสู่ ศตวรรษที่ 21 ในชื่อ Thailand 4.0 แต่ท้ายสุดก็ได้แค่ชื่อครับ เพราะจากที่สัมผัสบอกได้เลยว่า การศึกษาไทยยังคงตกต่ำ (ไม่ขอพูด บ่น มาก) แต่เห็นมีข่าวโน้น ข่าวนี่ ออกมามากมายเลย พูดเสริมบ้างนิดหน่อย hahahaaa… จากข่าวล่าสุด  ปัญหาการศึกษาของไทยเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก 

โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีประสบการณ์ในการสอนและทำวิจัยด้านการศึกษามานาน กว่า 30 ปี ยอมรับกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกใจที่เด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง เนื่องจากปัญหาการศึกษาของไทยติดหล่ม ล้าหลังมานาน ซึ่งข้อมูลธนาคารโลก แสดงให้เห็นว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเด็กในท้องถิ่นห่างไกล มีความล้าหลังด้านการศึกษา 3-4 ปี หากเทียบกับเด็กในเมือง

“เด็กในพื้นที่ห่างไกล ล้าหลังทั้ง 3 ช่วงการศึกษา ยกตัวอย่างเรียนชั้นม.3 มีความรู้เท่ากับเรียนชั้น ม.1 หรือเรียนชั้น ม.6 เท่ากับชั้นม.3 จากปัญหาคุณภาพของสื่อการสอน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในไทย กลายเป็นตัวกับดักการศึกษาไทย”

นอกจากนี้ ปัญหาการศึกษาของไทยยังเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก

1. นโยบายการศึกษาไม่มีความต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ยึดความสนใจของตัวเองและของพรรคการเมืองเป็นหลัก

2. ระบบการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยกฎระเบียบมากเกินไป ทำให้บุคลากรในกระทรวงศึกษา รวมถึงครู เกิดการยึดติดในกรอบ ไม่กล้าคิดแตกต่าง เนื่องจากต้องยึดในระเบียบกฎเกณฑ์ จนในที่สุดครู มีการปล่อยปละละเลยการเรียนการสอน

“ระเบียบกฎเกณฑ์จุกจิกมากเกินไป ทำให้คนในกระทรวงคิดแต่เรื่องที่จะแข่งขัน ไต่เต้า เรื่องนี้เป็นข้อมูลใหม่ว่าทำไม เมื่อมีนักวิชาการมาวิจารณ์การศึกษาไทย แล้วทางกระทรวงศึกษาฯ กลับไม่สนใจ ไม่แคร์ และยังทำงานอยู่ในกรอบระเบียบกฎเกณฑ์ แม้มีงานวิจัยกว่าหมื่นชิ้นออกมาวิจารณ์ก็ไม่ระคายเคือง เพราะเขาไม่ต้องเดือดร้อน เมื่อถึงสิ้นปีเงินค่าจัดการศึกษาก็เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับคุณภาพการศึกษาที่ด้อยลง เดินหน้าลงคลอง สอนแบบเดิมๆ”

3. การศึกษาของไทยไม่มีระบบการเรียนรู้ เน้นดิจิตอล เน้นการค้นหาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดการคิดแตกต่าง สร้างสรรค์ แต่ไปเน้นเรื่องเนื้อหาสาระ การท่องจำ เมื่อเด็กเรียนจบสอบผ่านก็จะทิ้งสิ่งที่ท่องจำไป ทำให้เป็นคนยึดติดแต่กรอบ กลายเป็นพลเมืองเฉื่อยชา ซึ่งนับวันเด็กไทยจะถูกทำลาย จากหลักสูตรที่ออกแบบล้าหลัง ให้ครูสอนแบบบรรยาย เน้นให้เด็กเรียนมากๆ และข้อ

4. ไทยไม่มีปรัชญาการศึกษา มีแต่การแข่งขัน ซึ่งจะเห็นการติววิชาต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อการสอบแข่งขัน มีการประกันเรื่องคุณภาพการศึกษา จนเป็นสาเหตุทำให้ครูออกจากห้องเรียนมากถึง 66 วัน จึงถือเป็นความล้าหลังอย่างมาก

“ถามใครจะขับเคลื่อนทำให้กระทรวงศึกษา ออกมายอมรับและเปลี่ยนแปลง เพราะนักการเมืองเข้ามาก็ทำงานแบบวูบวาบ รวมถึงคนในกระทรวง เมื่อคนออกมาวิจารณ์ ก็จะวูบวาบสักพักแล้วจะเงียบไป ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2540 การศึกษาของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตรที่ใช้มานาน 20 กว่าปี ถือเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับอนาคตของการศึกษาไทยที่ถอยหลัง หากยังไม่มีใครมาจัดการ คงไม่ถึงไทยแลนด์ 4.0 เพราะตอนนี้แค่ 2.0 จนประเทศอื่นในอาเซียนไปไกลหมดแล้ว เวียดนามวิ่งแซงหน้า มีเหนือกว่าก็กัมพูชา กับลาว เท่านั้น”

พร้อมบอกอีกว่าการปฏิรูปการศึกษา ต้องตั้งคนมีความรู้มาปฏิรูป ดำเนินการจากข้างล่างมาสู่ข้างบน เน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน มีแผนนโยบายหลายอย่างที่ยอมรับได้โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ มีการตั้งกองทุนเกี่ยวกับการศึกษา และการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน แต่ที่ผ่านมากลับเงียบ ไม่ดึงคนมามีส่วนร่วมรับฟัง และหากดำเนินนโยบายจริงจัง โดยส่วนตัวมองว่าไม่ต้องรอให้ถึง 20 ปีตามยุทธศาสตร์ชาติ คิดว่า 10 ปี จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน นอกจากนี้ ต้องปลดล็อกกระทรวงศึกษาธิการ ให้โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เป็นอิสระ.

ข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 18 ตุลาคม 2561

แสดงความคิดผ่าน Facebook