วันนี้มีภาระงานเยอะแยะมากมายจนไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนดี แต่ก็ทำทุำกอย่างเท่าที่จะทำได้ บางครั้งก็ทำเพราะมีอารมรณ์อยากจะทำ เห็นบทความเกี่ยวกับการนำเสนอของธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลยนำมาเสนอในบทความ เพื่อไว้อ้างอิงสอนเด็กนักเรียนต่อไป

ใคร ๆ ก็นำเสนอด้วยพาวเวอร์พอยต์ (หรือซอฟต์แวร์คีย์โน้ตในเครื่องแมค) ได้ แต่ทำอย่างไร การนำเสนอของเราจึงจะโดดเด่นและประทับใจผู้ฟัง ? ในที่นี้ ผมจะเสนอเทคนิคและเคล็ดลับบางประการที่จะช่วยทำให้การนำเสนอของเราน่าสนใจ มากขึ้นด้วยหลักการ 4ส ได้แก่ สื่อ, สิ่งของ, ส่วนร่วม และสุข ครับ

1. สื่อ แทนที่สไลด์ของเราจะเต็มไป ด้วยข้อความ หรือสไลด์ทุกหน้ามีพื้นหลังเป็นเทมเพลตเดียวกันซึ่งดูแล้วน่าเบื่อ เราควรหาสื่อประกอบการนำเสนอ เช่นใช้ภาพที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องมาเป็นพื้นหลังของสไลด์ ถ้าเป็นภาพที่เราถ่ายด้วยตนเองก็ยิ่งดีครับ เพราะจะไม่ซ้ำกับผู้อื่น หรือเราสามารถหาภาพคุณภาพสูงจากเว็บไซต์ที่แจกจ่ายภาพฟรี เช่น เว็บ www.iStockPhoto.com แจกภาพฟรีทุกอาทิตย์ครับ

นอกจากภาพแล้ว เรายังสามารถใช้สื่ออื่น ๆ เช่น เปิดดนตรีประกอบเบา ๆ หรือเปิดวิดีโอคลิปมาเสริมการนำเสนอของเรา จะทำให้การนำเสนอของเราน่าสนใจมากขึ้นครับ

2. สิ่งของ ถ้าเรามีสิ่งของหรือวัสดุที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในการนำเสนอ ก็ควรนำมาแสดงให้ผู้ชมดู จะน่าสนใจมากกว่าเปิดภาพให้ดูเฉย ๆ หรือสาธิตการใช้งานอุปกรณ์จริงให้เห็น ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ที่ดีที่สุดเว็บไซต์หนึ่ง เกี่ยวกับการนำเสนอคือ TED.com ได้รวบรวมคลิปการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญในวงการต่าง ๆ มีการบรรยายของนักวิจัยด้านสมองท่านหนึ่งชื่อจิล โบลต์ เทย์เลอร์ (Jill Bolte Taylor) โชว์สมองมนุษย์จริง ๆ ให้ดู ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมทั้งห้อง

3. ส่วนร่วม ไม่ว่าการบรรยายของเราจะสั้นเพียง 20 นาทีหรือยาว 3 ชั่วโมง เราสามารถทำให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมกับการนำเสนอได้ เช่น การตั้งคำถาม การขอให้ผู้ฟังจับคู่กันเพื่อถามตอบซึ่งกันและกัน การเล่นเกม รวมกลุ่มระดมสมอง เป็นต้น ถ้าการนำเสนอของเราใช้เวลานาน ควรหากิจกรรมต่าง ๆ มาแทรกไว้เป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้ผู้ฟังเบื่อหรือนั่งหลับ ถ้าผู้ฟังมีส่วนร่วมกับการนำเสนอของเรา ก็จะตื่นตัวและสนุกกับการบรรยายครับ  นอกจากนี้ ผู้นำเสนอไม่ควรนั่งอยู่กับที่ตลอดเวลา แต่ควรเดินไปหาผู้ฟังเป็นครั้งคราวเพื่อสร้างความเป็นกันเองครับ

4. สุข  สิ่งสำคัญที่สุดของการนำเสนอไม่ใช่ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ล่าสุด แต่เป็นผู้นำเสนอครับ ถ้าผู้พูดไม่มีใจหรือไม่มีความสุขกับการบรรยาย เช่น ไม่มีความรู้จริงในด้านนั้น โดนบังคับให้มาพูด เตรียมตัวมาไม่ดีพอ ผู้ฟังจะสังเกตได้ทันที และขาดความเชื่อถือในตัวผู้บรรยาย  แต่ถ้าผู้บรรยายมีความสุขกับการบรรยาย เช่น หลงใหลในหัวข้อนั้นอย่างมาก พูดออกมาจากใจของตนเอง อินกับเนื้อเรื่องที่พูด ถึงแม้ว่าพูดปากเปล่าโดยไม่ใช้พาวเวอร์พอยต์    ผู้ฟังก็จะสัมผัสได้ถึงความกระตือรือร้นและเกิดอารมณ์คล้อยตามผู้นำเสนอได้ ครับ

ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ ทุกครั้งที่สตีฟ จอบส์เปิดตัวสินค้าใหม่ของแอปเปิล  จะมีผู้คอยติดตามรับชมจำนวนมากทั่วโลก เพราะสตีฟ จอบส์นำเสนอด้วยความกระตือรือร้นและทุ่มเทมาก จนมีหลายคนล้อเลียนการนำเสนอของสตีฟ จอบส์ว่าค่อนข้างโอเวอร์ แต่ไม่เคยมีใครพูดว่า สตีฟ จอบส์นำเสนอได้น่าเบื่อครับ เราสามารถศึกษาวิธีการนำเสนอของสตีฟ จอบส์ได้โดยใส่ข้อความ steve jobs presentation ในกูเกิล ก็จะพบภาพหรือวิดีโอคลิปการบรรยายของสตีฟ จอบส์มากมาย

ไอทีเป็นตัวช่วยที่ทำให้การนำเสนอของเราดีขึ้น แต่มนุษย์คือส่วนสำคัญที่สุดของการนำเสนอ ไม่ว่าขณะนี้การนำเสนอของเราจะอยู่ในระดับใดก็ตาม เราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นในครั้งถัดไปได้เสมอครับ ถ้าเราทำให้การนำเสนอของเราเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์สำหรับผู้ฟังทุกคน การนำเสนอก็จะส่งผลตามที่ปรารถนาครับ.

แสดงความคิดผ่าน Facebook