นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายแก่คณะกรรมการคุรุสภา เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ว่า ตนอยากให้มีการกำหนดทิศทางการศึกษาที่ชัดและทำอย่างไรจึงจะได้ครูที่สอนตรง สาขา ขณะเดียวกันอยากให้คุรุสภาช่วยเป็นเจ้าภาพจัดให้มหาวิทยาลัยลงไปดูแลจังหวัด เพื่อช่วยกันพัฒนาพื้นที่ และ ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาให้มีความเชื่อมโยงกันไม่ใช่ ว่าเรียนมา 12 ปี ความรู้ก็หายไป ส่วนเรื่องการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องประเมินผลงานทางวิชาการแต่ควรดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มากกว่า โดยส่งแบบสอบให้ผู้ปกครองเป็นผู้ประเมินว่าครูคนนั้นผ่านหรือไม่ควร

“ สำหรับการฟื้นโครงการ 1อำเภอ 1ทุน ปีการศึกษา 2555 นั้น ต้องมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศก่อนว่า ความต้องการกำลังคนส่วนใด จากนั้นจึงจะกำหนดทุนที่จะให้นักเรียนไปเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยจะให้คัดเลือกมาจากทุกอำเภอของประเทศไทยจำนวน 921 ทุนตามเดิม ซึ่งงบฯที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้คงไม่มีปัญหาอะไรเพราะงบฯทุนการศึกษาต่าง ๆ มีปรากฏอยู่ในหลายกระทรวงซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันก่อน แต่สิ่งสำคัญคือรูปแบบและวิธีดำเนินโครงการ 1อำเภอ 1 ทุนรุ่นใหม่นี้ควรต้องมีความรัดกุมเพิ่มขึ้นด้วย”รมว.ศธ.กล่าวนายวรวัจน์ ยังได้กล่าวถึงผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณถึงรูปแบบการบริหาร ศธ.แบบบูรณาการ เพื่อจัดงบฯประมาณให้สอดคล้องกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทิศทางของประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ศธ.จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรของประเทศให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ที่ประชุมจึงให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา ขึ้น โดยมี รมว.ศธ.เป็นประธาน และมอบหมายให้ปลัดศธ.เป็นผู้ดูแลการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้

นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัด ศธ. กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีผู้แทนจากทุกองค์กรหลักของศธ.ร่วมเป็นกรรมเพื่อให้มี ศักยภาพในการทำงานตามนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ 13 แห่งของศธ.เป็นผู้ขับเคลื่อนงาน ส่วนการจัดสรรงบประมาณจะผ่านองค์กรหลักศธ.แต่จะมีภาพตัวเลขปรากฏในพื้นที่ ว่า มหาวิทยาลัย สถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือโรงเรียนมีงบประมาณส่วนใดบ้างและมีการสนับสนุนไปให้จำนวนเท่าใด เนื่องจากพื้นที่จะรู้ดีที่สุดว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต้องใช้งบฯเท่าใด ด้านไหนบ้าง ทั้งนี้วิธีการกระจายงบฯลงพื้นที่รูปแบบนี้มีหลายประเทศก็ดำเนินการอยู่แล้ว ประสบความสำเร็จอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติจะทำโดยทันทีไม่ได้จะต้องดูความ พร้อมและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ก่อน และจะต้องปรับให้เข้ากับงานเก่าที่ได้ปฏิบัติไว้แล้วด้วย

ที่มาจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ ที่ 19 สิงหาคม 2554 เวลา 8:53 น

แสดงความคิดผ่าน Facebook