มาถึงตอนนี้รัฐบาลปูหนึ่งก็ได้เสนาบดีแต่ละกระทรวงไปเรียบร้อยแล้วซึ่งก็มีทั้งโดนใจและโดนยี้บ้างเป็นธรรมดา  โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็ถูกมองว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษาน้อยไปหน่อยจนหลายฝ่ายอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติการศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ได้หรือไม่ ซึ่งความเป็นห่วงที่ว่านี้หากมองในแง่บวกก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะช่วยสร้างความตระหนักให้กับรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ได้เร่งทำงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะว่ากันตามความจริงแล้วหากรัฐมนตรีสามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการได้ช่วยกันคิดและดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมแล้วเรื่องประสบการณ์จึงไม่น่าจะมีผลมากนัก

สำหรับนโยบายด้านการศึกษานั้นแม้ตอนนี้จะยังไม่ประกาศออกมาเป็นทางการแต่ทุกฝ่ายก็คงพอจะทราบล่วงหน้าไปบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นการแจกแท็บเล็ต การส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพหรือการปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ส่วนของหน่วยงานแท่งต่าง ๆ  ก็มีการเตรียมงานใหม่ให้รัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเช่นกัน ซึ่งจากนโยบายทั้งที่เป็นส่วนของรัฐบาลและงานแท่งต่าง ๆ เตรียมนำเสนอนั้นแม้จะเป็นเรื่องใหม่ดูน่าสนใจและจะช่วยให้ของบประมาณได้ง่ายขึ้นก็ตาม แต่อาจไม่ตรงกับการแก้ปัญหาและความต้องการพัฒนาของพื้นที่ก็เป็นไปได้ด้วยผู้ที่จะรู้จริงถึงปัญหาและวิธีการพัฒนาได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผู้ปฏิบัติในพื้นที่

การที่หน่วยเหนือเป็นผู้คิด ตัดสินใจเองทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงผู้ปฏิบัติก็อาจทำให้การแก้ปัญหาและพัฒนาไม่ตรงจุดซ้ำจะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติมากยิ่งขึ้นอีกก็เป็นไปได้ เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดนี้จึงอยากให้รัฐมนตรีได้ฟังเสียงจากผู้ปฏิบัติในพื้นที่บ้างเพื่อจะได้ทราบถึงแก่นแท้ของปัญหาและแก้ไขได้ถูกทาง เพราะการจัดการศึกษาให้กับบุคลากรของชาติที่มีหลากหลายบริบทจะใช้วิธีการเดียวกันทั้งหมดโดยมุ่งเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศอย่างเดียวคงไม่ได้

ด้วยศักยภาพของเด็กและโรงเรียนที่พร้อมที่จะเดินหน้าสู่สากลได้นั้นมีเพียงส่วนหัวที่ไม่น่าจะเกินร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือทั้งที่เป็นส่วนกลางและส่วนท้ายจะเป็นบุคลากรระดับรากแก้วทำให้ทั้งเด็กและโรงเรียนยังขาดความพร้อมในหลายด้านคงไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องคุณภาพวิชาการตกต่ำอย่างเดียว แต่จะรวมถึงปัญหาคุณภาพชีวิตที่เด็กส่วนใหญ่ยังอ่อนด้อยทั้ง IQ, EQ, AQ, MQ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจึงเข้าสู่ลักษณะแล้งน้ำใจ ไร้มารยาท ขาดคุณธรรม นำแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สนสังคมเข้าไปทุกขณะ

เมื่อการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างไร้เป้าหมาย มาเรียนไปวัน ๆ ตามหน้าที่ การเดินหลงทางไปตามเพื่อนโดยไม่รู้ศักยภาพของตนเองด้วยการเน้นหนักเฉพาะวิชาการเพื่อการเรียนต่อสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทำให้ธุรกิจกวดวิชาเจริญรุ่งเรืองมีรายได้ปีละหลายหมื่นล้านบาทแต่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองอย่างมาก ทั้งที่เมื่อเรียนจบแล้วก็ยังไม่รู้วิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งปัญหาของเด็กที่ว่านี้ยังไม่รวมถึงกลุ่มเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น เด็กยากจน เด็กเร่ร่อน เด็กออกกลางคัน เด็กพิการ เด็กไร้สัญชาติ เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กันดารห่างไกล ฯลฯ

นโยบายการศึกษาจึงต้องหันมามองกับเด็กกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ว่าจะทำอย่างไรให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีอาชีพบนพื้นฐานความพอเพียงสอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่ไม่ใช่คิดแต่จะเดินหน้าแข่งขันกับนานาชาติอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าเด็กกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะเดินตามทันและได้รับประโยชน์จากการจัดการศึกษาหรือไม่

ซึ่งการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับเด็กกลุ่มที่ว่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่สิ่งแรกก็คงต้องคำนึงถึงความพร้อมในปัจจัยที่จะดำเนินการก่อนเพราะหากปัจจัยพื้นฐานไม่พร้อมแล้วการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาก็คงเกิดขึ้นได้ยากซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่ว่านี้ก็มีอยู่หลายอย่างคงจะขอนำเฉพาะส่วนสำคัญที่อยากให้มีการแก้ไข คือ

สูตรและเนื้อหาการเรียนรู้ที่น่าจะต้องปรับให้เข้ากับบริบทความต้องการของพื้นที่และศักยภาพของเด็กแต่ละกลุ่ม ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีหลักสูตรแกนกลางให้โรงเรียนนำไปบูรณาการกับสาระท้องถิ่นจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังลอกหลักสูตรใช้ร่วมกันอยู่ นอกจากนั้นครูส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจที่จะศึกษาหลักสูตรเพื่อนำไปวิเคราะห์จัดเป็นแผนการจัดการเรียนรู้กันอย่างจริงจัง การสอนจึงเป็นไปตามความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ หรือสอนเนื้อหาตามหนังสือที่มีวางจำหน่าย

หลักสูตรสถานศึกษาส่วนใหญ่จึงมีไว้เพื่อการตรวจสอบหรือการประเมินเท่านั้น ประกอบกับหลักสูตรแกนกลางได้กำหนดให้เด็กทุกระดับทุกโรงเรียนจะต้องเรียนครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้กับอีก 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทั้งที่เด็กบางระดับหรือบางพื้นที่ยังไม่มีพื้นฐานความพร้อมที่จะเรียนรู้ส่งผลให้เด็กเรียนมากจนเกินความจำเป็นจนไม่มีเวลาทำกิจกรรมพัฒนาด้านอื่น

ส่วนด้านเนื้อหาของหลักสูตรแกนกลางก็ทำเพียงกำหนดกรอบเนื้อหาไว้กว้าง ๆ เพื่อให้ครูได้ค้นคว้าหาความรู้มาสอนแต่ด้วยข้อจำกัดของครูและของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลข้อมูลจึงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถสืบค้นหาเนื้อหาความรู้อย่างหลากหลายมาสอนเด็กได้ การกำหนดเนื้อหาแกนกลางในแต่ละวิชาให้เด็กได้เรียนรู้แต่ละระดับชั้นจึงน่าจะมีประโยชน์มากกว่าปล่อยให้ครูไปหาซื้อตำราจากท้องตลาดที่มีอยู่เพื่อเด็กจะได้ความรู้เนื้อหาตรงกับมาตรฐานของชาติที่ต้องการอีกด้วย

ปัจจัยต่อมาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องครูที่มีปัญหาหลักอยู่ 2 ส่วน คือ ครูขาดแคลนและครูขาดคุณภาพ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขเร่งด่วนก็คือ ครูขาดแคลน  ด้วยขณะนี้โรงเรียนทุกระดับและทุกขนาดเกิดปัญหาที่ว่านี้ทั้งสิ้นโดยโรงเรียนขนาดเล็กจะมีครูไม่พอสอนครบชั้น ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ครูไม่พอสอนครบทุกสาระวิชาซึ่งปัญหาครูขาดแคลนนี้ถูกหมักหมมมานานทั้งนี้ก็เพราะมัวไปยึดอยู่กับหลักการใช้เกณฑ์อัตราส่วนครูต่อเด็ก 1 : 25 เพราะหากดูแค่ส่วนนี้ในภาพรวมของประเทศครูไม่ขาดแคลนแน่

แต่หากเจาะลงไปถึงพื้นที่ครูจะยังขาดแคลนอยู่มาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าครูส่วนใหญ่จะไปเกินเกณฑ์อยู่กับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานผิดพลาดในอดีตที่ยอมให้ครูจากโรงเรียนขนาดเล็กตัดโอนตำแหน่งไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ได้ ยิ่งมีโครงการเออร์ลี่รีไทร์ให้ครูที่มีคุณสมบัติครบขอเออร์ลี่รีไทร์ได้พร้อมทั้งยุบอัตราไปด้วย ก็ยิ่งทำให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครูอยู่ก่อนแล้วประสบปัญหามากยิ่งขึ้น

การที่จะแก้ไขโดยใช้วิธีการเกลี่ยครูจากโรงเรียนเกินเกณฑ์ไปให้โรงเรียนขาดแคลนนั้นคงทำได้ยากเพราะคงไม่มีครูคนไหนยอมย้ายแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่จะแก้ปัญหาโดยรอให้ครูจากโรงเรียนเกินเกณฑ์เกษียณอายุราชการแล้วค่อยตั้งตำแหน่งใหม่ให้กับโรงเรียนขาดแคลนนั้นจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะมีครูพอสอนครบชั้น หรือต้องรอให้เด็กสูญเสียโอกาสอีกกี่คนกี่รุ่นถึงจะแก้ปัญหาได้ ตรงนี้จึงอยากฝากให้รัฐบาลปูหนึ่งได้ใช้ความจริงมาแก้ไข

ส่วนคุณภาพครูคงไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ไขได้ขอเพียงหน่วยเหนือได้เปิดโอกาสให้พื้นที่ได้ร่วมกับครูคิดหาทางพัฒนากันเอง ซึ่งจะพัฒนาได้ตรงกับสิ่งที่ครูต้องการไม่ใช่ทุกอย่างถูกกำหนดจากหน่วยเหนือทั้งหมดเพราะจากการดำเนินงานที่ผ่านมาหากฟังเสียงครูบ้างก็จะรู้ว่าผลลัพธ์เป็นเช่นไร

ด้านงบประมาณ ควรจัดให้เกิดความเหมาะสมทั่วถึงกับการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพเด็กในแต่ละด้าน เช่น ด้านอาหารกลางวัน ก็ควรจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างแท้จริง ด้วยปัญหาเด็กไทยที่มีไอคิวต่ำอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอนั่นเองซึ่งในการจัดสรรงบประมาณเพื่ออาหารกลางวันให้เด็กหัวละ 10  บาทเศษ ๆ
ต่อวันกับสภาวะเศรษฐกิจยุคปัจจุบันนี้คงยากที่จะหาอาหารที่มีคุณค่าได้

ดังนั้นงบประมาณส่วนนี้จึงน่าจะต้องเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลนควรได้รับงบประมาณเพิ่มเพื่อนำไปจัดกิจกรรมเกษตรสนับสนุนการจัดอาหารกลางวัน นอกจากนั้นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ก็ควรส่งไปให้ภาคปฏิบัติได้นำไปดำเนินการเองบ้างเพื่อจะได้จัดกิจกรรมตรงกับความต้องการไม่ใช่หน่วยเหนือเป็นผู้ดำเนินการตามความคิดของตนเอง  เขาทำอย่างนี้ก็ไม่ไหวเช่นกัน

ปัจจัยสุดท้ายที่จะขอนำเสนอในที่นี้ก็คืออยากให้หน่วยเหนือได้จัดลำดับความสำคัญของโครงการและกิจกรรม ด้วยปัจจุบันนี้มีกิจกรรมทั้งหน่วยงานต้นสังกัดและนอกสังกัดส่งไปให้โรงเรียนทำจนล้นมือแทบไม่มีเวลาสอน โดยส่วนใหญ่ก็อ้างว่าเป็นการสนับสนุนพัฒนาการศึกษาแต่ความเป็นจริงกิจกรรมที่ส่งไปให้ดำเนินการจำนวนมากไม่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาในพื้นที่ ส่วนนี้จึงน่าจะพิจารณาให้เหลือเพียงโครงการหรือกิจกรรมที่จำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่กิจกรรมตามภาระงานของกลุ่มงานในหน่วยเหนือที่คิดสร้างขึ้นทั้งหมด

จากอุปสรรคตามที่ได้กล่าวทั้งหมดนั้นจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษาของรัฐบาลที่จะต้องมีทั้งส่วนที่จะแลไปข้างหน้าเพื่อส่งเสริมให้เด็กที่มีความพร้อมก้าวไปสู่ความเป็นเลิศเท่าทันกับนานาชาติและเหลียวหลังเพื่อดูแลแก้ไขพัฒนาให้กับเด็กที่ยังมีปัญหาอยู่เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากสามารถทำควบคู่กันไปได้เช่นนี้ก็น่าจะช่วยลดช่องว่างคุณภาพชีวิตของคนเมืองกับผู้คนระดับรากแก้วไม่ให้ห่างกันจนเกินไป ซึ่งผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นก็คือความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในประเทศชาตินั่นเอง.

กลิ่น สระทองเนียม

แหล่งข่าว เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 23 สิงหาคม 2554 เวลา 0:00 น

แสดงความคิดผ่าน Facebook