ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

เผยอาจารย์มหาวิทยาลัยลาออกไปอยู่ รร.สพฐ. เพราะไม่มั่นคงชีวิต

เมื่อวันที่13ก.ย. ดร.ถนอม อินทรกำเนิด  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการอุดมศึกษา( กกอ.)  กล่าวเสวนา เรื่อง กฎหมายอุดมศึกษา ในการประชุมวิชาการระดับชาติ 2554 “คุณภาพอุดมศึกษาไทยสู่สากล”  ว่าขณะนี้เรามีกฎ ระเบียบต่าง ๆที่บุคลากรในมหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการตาม แต่กลับพบว่าระเบียบบางอย่างไม่สามารถดำเนินการได้และทำให้เกิดปัญหา เช่นระเบียบของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของการสรรหาบุคลากร คณาจารย์  ที่กำหนดเฉพาะบางสาขา ขณะที่ความต้องการของมหาวิทยาลัยจะเป็นอีกสาขา จึงทำให้ไม่สามารถคัดเลือกอาจารย์ได้ตามความต้อง  ทั้งที่อาจารย์มีความสำคัญที่สุดต่อสถาบันอุดมศึกษา

นอกจากนี้ในประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(ก.พ.อ.) บางเรื่องเช่น การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบบุคลากรสายวิชาการ สายสนับสนุน การกำหนดจริยธรรม กำหนดสิทธิประโยชน์ และกำหนดวิธีกำจัดบุคคลที่ไม่สมควรอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ก็กำลังจะใช้ไม่ได้ เนื่องจากบุคลกรส่วนใหญ่เป็นพนักงาน แต่กฎหมายนี้บังคับใช้ได้กับข้าราชการเท่านั้น

จากปัญหาดังกล่าวทำให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยเริ่มเครียด กังวล และรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ  จากที่ตนได้คุยกับดร.คุณหญิง กษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา อดีต เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ทราบว่าอาจารย์หลายคนลาออก เพื่อไปเป็นครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มากขึ้น เพราะเชื่อว่าโรงเรียนสพฐ.มีความมั่นคงในชีวิตมากกว่ามหาวิทยาลัยดังนั้นตนจึงเห็นว่าสกอ.ต้องเร่งผลักดันร่างกฏหมายอุดมศึกษาออกมาใช้โดยเร็ว   และร่างดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจน ทั้งเรื่องอำนาจองค์กรดูแลเรื่องงบประมาณ  การบริหารงานบุคคล และ มีระบบตรวจสอบ ประเมิน เป็นต้น  เพื่อเป็นแนวปฎิบัติต่อไป

ทางด้าน ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ รองประธาน กกอ. กล่าวว่า ตั้งแต่ทบวงมหาวิทยาลัย หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) มารวมกับกระทรวงศึกษา ตนไม่เห็นข้อดีเลย เพราะเป้าหมายการจัดการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอุดมศึกษาเป็นคนละเรื่องกัน  ขณะที่อำนาจของสกอ.ถูกริดรอนจนแทบไม่เหลืออะไร  จนวันนี้เกิดปัญหากับอุดมศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ เพราะการศึกษาเดินไม่ถูกทาง และไม่มีใครไปตรวจสอบ   รวมทั้งระบบการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยรัฐกับเอกชนก็แตกต่างกัน   ดังนั้นถึงเวลาแล้วต้องหาวิธีการที่จะทำให้มีระบบการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตนเชื่อว่าร่างกฎหมายอุดมศึกษาจะเป็นกลไกควบคุมและกำกับสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ที่มา: เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 13 กันยายน 2554 เวลา 18:27 น

แสดงความคิดผ่าน Facebook