ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” เผย ระบบการศึกษา ต้องสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์ เริ่มตั้งแต่อนุบาล เน้นตั้งคำถามให้เด็กหาคำตอบ จี้ครูสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ยกระดับจิตใจด้วยศีลสมาธิ…

จากการประชุมวิชาการเพศศึกษา เพื่อเยาวชนครั้งที่ 5 “ก้าวที่เก้า…ก้าวที่กล้า : เพศวิถีศึกษา เพื่อสร้างสังคมแห่งวุฒิภาวะ” ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี กล่าวในการเสวนา “ครูกับการศึกษาที่สร้างเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้เยาวชน” ว่า ระบบการศึกษาต้องสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์ โดยเริ่มตั้งแต่อนุบาล เน้นตั้งคำถามให้เด็กขวนขวายหาคำตอบ หากเราบ่มเพาะกระบวนการคิดดี ทำดี และวิเคราะห์ตลอดเวลาจะทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเป็นหนทางการแก้ปัญหาเยาวชนต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ทุกวิชาสามารถบูรณาการคุณธรรมเข้าไปได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันเด็กมีปัญหาเพราะสังคมไม่ได้ช่วยเหลือแต่กลับยิ่งเพิ่มปัญหา โดยเฉพาะละครทีวีที่สร้างกิเลสตัณหาให้กับเด็ก ดังนั้น ครูจึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก โดยยกระดับจิตใจด้วยการอาศัยศีลสมาธินพ.ยง ยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวเสวนาเรื่อง  “โรงเรียนจะจัดการอย่างไรกับเรื่องท้องในวัยเรียน” ว่า ปัจจุบันวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้เสี่ยงมีเพศสัมพันธ์ 25% และในกลุ่มเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์มี 10% ที่ตั้งครรภ์ และครึ่งหนึ่งที่ตั้งครรภ์เสี่ยงในการทำแท้ง เป็นตัวเลขที่น่าห่วง มาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นจะต้องเพิ่มทักษะชีวิตสื่อสารให้สังคมตระหนัก  เน้นความร่วมมือ 3 ระบบ ทั้งโรงเรียนที่ต้องป้องกันโดยการสอนเพศศึกษา  การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ช่วยเหลือเด็กที่ตั้งครรภ์แล้วให้สามารถตั้งครรภ์ที่เหมาะสม โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัฒนธรรมทางเพศในสังคมไทยมีมาตรฐานซ้อนทางเพศ  การเรียนรู้เพศวิถีศึกษาเป็นการหล่อหลอมขัดเกลาให้เพศชายทำร้ายเพศหญิงอย่าง ไม่รู้ตัว และผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมักจะถูกตีตราในทางลบ โดยเฉพาะนักเรียนหญิงที่ท้องไม่พร้อมมักจะถูกกีดกันจากสถานศึกษา  เห็นได้จากจำนวนนักเรียนมัธยมปีที่ 1-6 ทั่วประเทศที่ออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะแต่งงาน หรือท้องไม่พร้อม อัตราส่วนหญิงต่อชาย ในปี 2550 มี 11:9 ปี 2551 มี 11:7 และปี 2552 มี 10:0 อย่างไรก็ตาม ตนอยากเห็นโรงเรียนและครูไม่ตีตรานักเรียนหญิงที่ท้องไม่พร้อม แต่มีแนวทางในเชิงระบบในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ นักเรียนหญิงที่ท้องไม่พร้อมได้รับคำปรึกษาครบวงจรจากครู รวมทั้งอยากเห็นบริการของโรงพยาบาล โดยผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมที่เข้าข่ายยุติการตั้งครรภ์ได้ตาม กฎหมาย ต้องได้รับบริการที่ปลอดภัยและครบวงจร

*ข่าวจากไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 6 สิงหาคม 2554

แสดงความคิดผ่าน Facebook