ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11  กันยายน 2001 ผ่านไปแล้ว 10 ปี แต่เชื่อว่าความรู้สึกของผู้คนทั่วโลกจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือญาติมิตรไปกับเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว คงไม่ต่างจากสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน และเชื่อเหลือเกินว่า 11 กันยายน 2001 จะเป็นวันที่ชาวโลกทุกคนจดจำ ไม่มีวันลืมเลือน เพราะเหตุวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดจากฝีมือของเครือข่ายก่อการร้ายชื่อก้องอย่าง “อัล เคดา” ในครั้งนั้น ได้เปลี่ยนแปลงโลกใบน้ี ไปตลอดกาล…

ควันพวยพุ่งออกจากตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์

ในวันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน เครื่องบินโดยสารสองลำ คือ เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ และเที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ถูกผู้ก่อการร้ายภายใต้เครือข่ายก่อการร้าย “อัล เคดา” ที่วางแผนอย่างแยบยลบุกเข้ายึด และบังคับให้บินพุ่งชนตึกแฝด ‘เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์’ สัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมเสรีใจกลางมหานครนิวยอร์กจนพังพินาศ ขณะที่เครื่องบินลำที่สาม คือ เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ถูกบังคับให้พุ่งชน อาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ “เพนตากอน” รวมถึง เครื่องบินโดยสารลำที่ 4 ที่คาดว่าจะถูกจี้ไปพุ่งชนทำเนียบขาว แต่เกิดวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรดาผู้โดยสารบนเครื่องในการต่อสู้กับกลุ่มคนร้ายเสียก่อนจนเครื่องประสบอุบัติเหตุพุ่งโหม่งพื้นโลกเสียก่อน

เหตุการณ์สะเทือนขวัญชาวอเมริกันและชาวโลกครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,977 คน โดยเป็นผู้เสียชีวิตบนเครื่องบินโดยสารทั้ง 4 ลำ 246 คน ขณะที่อีก 2,602 คนต้องจบชีวิต ณ อาคารแฝดเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และในตึกที่ทำการกระทรวงกลาโหม 125 คน ส่วนบรรดาวีรบุรุษทั้งหลายก็ต้องสังเวยชีวิตของตนไปไม่น้อยเช่นกัน ทั้งนักผจญเพลิง 343 คน, ตำรวจนิวยอร์กและตำรวจท่าเรือ 37 คน, รวมถึงยังคงมีผู้สูญหายอีก 24 ราย

 

หลังเกิดเหตุ นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯในขณะนั้น ได้ประกาศทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้าย และส่งกำลังทหาร เข้าสู่ดินแดนอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่าโอซามา บิน ลาเดน หรือ “อุซมะห์ บินลาดิน” แกนนำเครือข่ายก่อการร้ายอัล เคดา ที่ข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ ฟันธงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมดังกล่าว และถูกระบุว่าหลบหนีไปพึ่งกลุ่มติดอาวุธอีกกลุ่ม คือ พวกนักรบ”ตาลีบัน” ของมุลลาห์ โอมาร์ ในอัฟกานิสถาน โดยสงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯนั่นเอง

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ปธน.สหรัฐในขณะนั้น ประกาศสงครามกับผู้ก่อการร้าย

 
แม้บิน ลาดิน เป้าหมายหลักของสหรัฐฯ จะถูกสังหารจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่หลายฝ่ายได้ลงความเห็นตรงกันโดยมิได้นัดหมายแล้วว่า การสิ้นชีพของบิน ลาดินยังไม่ถือเป็นจุดจบของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแท้จริง ในทางกลับกัน มีความเป็นไปได้อย่างมากที่การสิ้นชีพของเขาจะทำให้โลกต้องเตรียมรับมือกับการแก้แค้นระลอกใหม่ของกลุ่มอัล เคดา ที่อาจมีความหนักหน่วงรุนแรงเสียยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

 

โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่ม’อัลเคดา’

การสู้รบระหว่างสหรัฐฯ (รวมถึงชาติพันธมิตร) กับบรรดาเครือข่ายก่อการร้ายที่มีแนวคิดอันสุดโต่งทั้งหลาย ดูจะไม่จบสิ้นโดยง่าย กลุ่มก่อการร้ายทั้งหลายที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มตาลีบัน และอัล เคดา ก็ยังคงก่อเหตุโจมตีในรูปแบบต่างๆ ต่อไป เพราะถึงแม้จะไม่มีแกนนำระดับตำนานอย่างบิน ลาดิน แต่ดูเหมือนพวกเขาก็ยังมีผู้นำคนใหม่อย่าง ‘ไอยมาน อัล-ซาวาฮีรี’ ขึ้นมาสานต่ออุดมการณ์ต่อไป อีกด้านหนึ่ง กลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ก็มีความกล้าที่จะโผล่จากเงามืดออกมาก่อเหตุอันน่าสะพรึงมากขึ้น โดยยึดอัล เคดาเป็นแบบอย่าง ดังนั้นจึงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า แม้เหตุก่อวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11  กันยายน 2001 จะผ่านมาถึง 10 ปีเต็มแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่า โลกใบนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และดูเหมือนผู้คนในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลก จะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตหลงเหลืออยู่อีกต่อไป มาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ได้ถูกรัฐบาลของนานาประเทศนำออกมาใช้ ขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยที่มีความเข้มงวดกวดขัน ยิ่งกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ได้ส่งผลให้การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างผู้คนในประเทศต่างๆ ทำได้ยากลำบากขึ้น เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหวาดกลัวเกิดเหตุวินาศกรรมซ้ำรอย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนผู้คนทั่วโลกเริ่มชาชินและสามารถปรับตัว ให้เข้ากับมาตรการเหล่านี้ได้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว

ส่วนในด้านจิตใจ ผู้คนทั่วโลกต่างช็อกกับเรื่องท่ีเกิดขึ้น ชาวอเมริกัน ผู้ที่ประสบเหตุ 9/11 โดยตรงและรอดชีวิตมาได้ กับผู้เห็นเหตุการณ์ ต่างก็มีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็หวาดกลัวท้อแท้หมดอาลัย เนื่องจากสูญเสียครอบครัวหรือผู้เป็นที่รัก แต่คนบางกลุ่มได้เลือกที่จะใช้เหตุวินาศกรรมนี้เป็นบทเรียนขับเคลื่อนตัวเองเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่อนาคต สู่วันที่ 11 กันยายน ที่ดีกว่าเดิม

แล้วคนอื่นที่ไม่ได้เป็น ผู้ประสบเหตุโดยตรงจะรู้สึกอย่างไรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงแรก หลายคนอาจเสียใจ ตื่นกลัว และหวาดเกรงว่า เหตุร้ายสะเทือนโลกที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯนั้นมีโอกาสจะเกิดขึ้นกับคนรอบข้างหรือตัวเองได้ไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนอาจเริ่มทำใจยอมรับได้ ถึงความจริงของชีวิตในข้อที่ว่า “ชีวิตต้องดำเนินต่อไป” และทุกคนควรถนอมช่วงเวลาอันมีค่ากับบุคคลผู้เป็นที่รักไว้ให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เสียใจในภายหลัง หากมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้น

 

 

วินาทีชน ช็อตต่อช็อต

 

 

ฝุ่นผงจากอาคารที่พังทลายปกคลุมพื้นที่โดยรอบ

 

ความเสียหายที่ตึกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

 

 

ที่ตั้งเดิมของตึกแฝดถูกเรียกว่า ‘กราวด์ ซีโร’ อยู่ในระหว่างสร้างตึกใหม่

 

 

เก้าอี้จำนวนเท่ากับตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ตั้งเรียงรายในสวนใกล้กราวด์ ซีโร

 

 

อนุสรณ์รำลึกถึงนักผจญเพลิงและเจ้าหน้าที่ที่พลีชีพ

 

 

มุลลาห์ โอมาร์ ผู้นำ’ตาลีบัน’

 

 

ซากเฮลิคอปเตอร์ระบบสเตล ที่ตกในบริเวณบ้านพักที่บิน ลาเดนถูกสังหาร

 

 

บารัค โอบามา ปธน.สหรัฐฯคนปัจจุบัน

 

 

ไอยมาน อัล-ซาวาฮิรี ผู้นำอัล เคดาคนใหม่

 

 

อาคารใหม่ ที่สร้างบนพ้ืนที่กราวด์ ซีโร

 

 

หอคอยเสรีภาพ หรือฟรีดอมทาวเวอร์ เปิดไฟเป็นสีประจำชาติสหรัฐฯ

 

 

แบบจำลอง อาคารโดยรอบกราวด์ ซีโร รวมถึงตึก’วัน เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์’

 

 

อนุสรณ์สถาน ตึกเวิลเทรด เซ็นเตอร์

 

 

การซ้อมฉายไฟขึ้นท้องฟ้า สะท้อนกับฝนที่เทลงมา จนเกิดเป็นภาพอันสวยงาม

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังเหตุร้ายอย่างแน่นหนา

แสดงความคิดผ่าน Facebook